top of page

Craft Beer คืออะไร?

หากคุณเป็นขาประจำการแฮงก์เอ้าท์ ออกเที่ยวยามค่ำคืนล่ะก็ ในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมานี้คงจะสังเกตกันได้ว่าในเมนูเบียร์ของแต่ละร้านต่างๆก็มีเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็จะเป็นเหล่าบรรดา Craft Beer ที่มาเพิ่มความแปลกใหม่ และส่งรสชาติที่น่าสนใจมาให้เราชิมกันอย่างสนุกสนาน แต่แม้ว่าเราจะแยกรสชาติของเบียร์แต่ละชนิดได้เก่งขนาดไหนก็เถอะ การที่จะนิยามคำว่า Craft Beer จริงๆนั่นก็ยังถือว่ายากราวกับงมเข็มในมหาสมุทรอยู่ดี

เพราะฉะนั้นวันนี้ Craft Experience จะมาทำให้มันง่ายขึ้น และหวังว่าจะช่วยให้ทุกคนกระจ่างกันได้นะ

เริ่มต้นกันด้วยประวัติคร่าวๆของเบียร์จากฝั่งอเมริกากันก่อน อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าศาสตร์การหมักเบียร์นั้นถือว่าเป็นศาสตร์ที่เก่าแก่ และอยู่กับประเทศนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1612 โดยถัดมาในศตวรรษที่ 19 ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมที่รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ธุรกิจการหมักเบียร์ก็เจริญรุ่งเรืองไปตามๆกัน จากรายเล็กก็เริ่มพัฒนาเป็นรายใหญ่ และถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แตกต่างมากๆ ณ เวลานั้น

แต่ในปี 1920 สิ่งที่ทุกคน รวมถึงเราเบื่อและเมินหน้าใส่อย่าง ‘กฎหมายข้อห้าม’ ก็ได้บัญญัติขึ้น แต่ก็ถูกยกเลิกไปในอีก 10 กว่าปีต่อมา และหลังจากนั้นเองเหล่าบรรดาเบียร์ทั้งหลายก็เริ่มจับมือหันไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คือกลายเป็น Light Lager หรือ Pale Lager กันหมด แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ความหลากหลายย่อมเกิดขึ้นเสมอ โดยถัดมาในปี 1978 กลุ่มนักลงทุนที่รวมตัวกันจากเหล่าบรรดานักหมักเบียร์ก็เริ่มหันมาทำเบียร์กันเอง ไม่ตามขนบธรรมเนียมของใครแต่ทุกอย่างก็ยังไม่ได้กว้างขวางอะไรมากเนื่องจากกฎหมายเรื่องการหมักเบียร์นั่นเอง

แล้วการหมักแบบบ้านๆ จะมาเป็นการหมักในลักษณะของ Craft Beer ได้ยังไง? คำตอบก็ไม่ยากเลย และจุดเริ่มต้นนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล สองเจ้าพ่อแห่งวงการ Craft อย่าง Jim Koch และ Ken Grossmen หรือที่เรารู้จักกันในนาม Sam Adams และ Sierra Nevada เรียกได้ว่าสองแบรนด์นี้แหละ แหล่งกำเนิดของ Craft Beer เลยแหละ โดยด้าน Ken นั้นเริ่มต้นจากการออกจากโรงเรียน ยืมเงินเพื่อนและครอบครัวเพื่อที่จะมาเปิดธุรกิจเบียร์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม Sierra Nevada ซึ่งต่อมาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กรณีเดียวกันกับ Sam Adams โดย Jim Koch เจ้าของต้นตำรับเก่าแก่อย่าง Samuel Adams Boston Lager นั่นก็เรียกได้ว่าเป็น Beer Lover พอๆกับ Ken เขาผลิตเบียร์กว่า 4.1ล้านบาร์เรลในปี 2014 และต้องการจะเปลี่ยนวงการของเบียร์ที่เราเห็นทั่วๆไปให้แตกต่างไปจากเดิม

แน่นอนว่าอ่านกันมาถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะงงว่า อ้าว แล้วเบียร์ชื่อดังทั้งสองแบรนด์ผลิตกว่า 4 ล้านบาร์เรบนี้เรียกตัวเองว่า Craft Beer ได้หรอ? เราขอตอบเลยว่า ได้! ตราบใดที่พวกเขายังมีผลผลิตอยู่ในจำนวนที่ไม่มาก (4.1 เมื่อเทียบกับตลาดทั้งหมดคือยังน้อย!) และให้คุณภาพอยู่เหนือปริมาณ นั่นแหละ Craft Beer แต่เอาจริงๆแม้แต่ สมาคมผู้ผลิตเบียร์ ก็ยังไม่จำกัดความคำนี้นะ แต่พวกเขากล่าวไว้ว่า ‘ปล่อยให้ผู้ชิมตัวจริงเป็นคนบัญญัติ’ จะดีกว่า

อย่างไรก็ดีทางสมาคมก็ยังจำกัดความในเรื่องของ Craft Brewers เอาไว้ให้อยู่นะ โดยสามคำสั้นๆง่ายๆสำหรับ Craft Brewers ก็คือ Small, Independent และ Traditional

สำหรับคำว่า Small ในที่นี้หมายถึง ขนาดกำลังการผลิต โดยสำหรับ Craft Brewers นั้นจะถูกจำกัดให้ผลิตเบียร์ออกมาแค่ 3% ของตลาดเบียร์ทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายความว่ายิ่งตลาดโตเท่าไหร่ การเพิ่มขึ้นของ Craft Beer ก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่เป็นในอัตราส่วนที่บอกไปนะ

ด้าน Independent ก็หมายความคล้ายกับ Small คือจะมีเพียงแค่ 25% ของธุรกิจเท่านั้นที่จะทำหรือหุ้นโดยคนอื่นที่ไม่ใช่ Craft Brewers ได้

ท้ายสุดกับคำว่า Traditional ที่ได้มีการเปลี่ยนคำนิยามไปเล็กน้อยในปี 2014 โดยหมายความรวมๆว่ารสชาติของ Craft Beer นั้นจะต้องมาจากรสชาติที่ดั้งเดิม หรือ มาจากนวัตกรรมในการหมักเบียร์ที่แปลกใหม่เท่านั้น

แล้วเมื่อไหร่ Craft Brewery จะไม่ใช่ Craft ล่ะ? คำตอบง่ายเลยก็คือการเติบโตของธุรกิจนั่นแหละ ตราบใดที่พวกเข้าไม่ Small, Independent และ Traditional อีกต่อไป พวกเขาก็ไม่ใช่ Craft แล้วแหละ แต่ในการเติบโตก็ย่อมมีความน่าสนใจ ยิ่งธุรกิจของเบียร์ไปได้ไกลเท่าไหร่ ความมากขึ้นชอง Craft Beer และ Craft Brewers ในอนาคตก็ย่อมมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อถึงเวลานั้นเองผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเราๆเหล่าบรรดาผู้บริโภคนี้แหละ ท้ายสุดนี้เราก็คงได้แต่หวังว่าซักวันหนึ่งสมาคมผู้ผลิตเบียร์จะจำกัดความของคำนี้ให้ชัดเจนขึ้นได้ในเร็ววันนะ!

Recent Posts
Follow The Craft
  • Facebook B&W
  • Twitter B&W
  • Instagram B&W
No tags yet.
Search by Tags
bottom of page